; โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot mouth disease) -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot mouth disease)

โรค มือ เท้า ปาก

          เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ซึ่งมีมากกว่า 100 สายพันธุ์ ที่พบบ่อยคือไวรัสคอกซากี เอหรือบี และเอนเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง กลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต สำหรับผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง

การแพร่ติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

          สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ และจากการสัมผัสทางอ้อม ผ่านของเล่น อาหารและน้ำ ที่มาจากการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยส่วนใหญ่มักพบการแพร่ระบาดในโรงเรียนอนุบาลและสถานรับเลี้ยงเด็ก

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

        มีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ และทานอาหารได้น้อยลง เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือกและกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส พบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจจะพบที่ก้นด้วย ไข้มักจะหายเองใน 2-3 วัน และผื่นจะค่อยๆดีขึ้นใน 7-10 วัน

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

         โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุงแก้มและให้ยาปฏิชีวนะในรายที่จำเป็น ร่วมกับการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง นอกจากนี้ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัด อาหารเหลวและเย็น ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ พักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนอาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด

          ตามปกติโรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อนแต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71  อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรสังเกตุอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมทานอาหาร ดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย แขนขาอ่อนแรง เดินเซ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก อาจเกิดภาวะสมองหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

          โรคนี้สามารถเป็นซ้ำได้อีก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ในผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งๆ อาจไม่สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆได้ แม้ว่าจะจัดอยู่ในกลุ่มย่อยของเชื้อไวรัสเดียวกัน

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

     การฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก หรือถ้าติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง โดยวัคซีนจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสชนิดเอนเทอโรไวรัส 71 (EV71) สามารถฉีดได้ในเด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี จำนวน 2 เข็ม ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส71

          นอกจากการฉีดวัคซีนการดูแลสุขอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก การล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร  การทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือ เป็นต้น  รวมถึงหลีกเลี่ยงการนำบุตรหลานไปในสถานที่ชุมชนแออัดที่มีโอกาสสัมผัสโรคได้ เช่น ศูนย์การค้า สนามเด็กเล่น ตลาด

 

 

การควบคุมโรคมือ เท้า ปาก

        สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล ต้องจัดให้มีอ่างล้างมือและส้วมที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นดูแลและรักษาสุขลักษณะของสถานที่ ของเล่น และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้สะอาดอยู่เสมอ

          หากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แยกเด็กและแนะนำให้ผู้ปกครองพาไปพบแพทย์และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วัน และหากพบเด็กป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่ 2 ราย ใน 1 สัปดาห์ ต้องปิดและทำความสะอาดห้องเรียนนั้น 5-7 วัน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดในกลุ่มใหม่

 

 

คำแนะนำการดูแลเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก

  1. แยกเด็กป่วยให้พักอยู่บ้าน เป็นเวลา 7 วัน นับจากวันที่เริ่มมีอาการ ไม่พาเด็กไปที่มีคนจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ
  2. รักษาความสะอาดบริเวณผิวหนังที่มีผื่นหรือตุ่ม ห้ามผู้ป่วยเกา ตัดเล็บให้สั้น
  3. เช็ดตัวและให้ยาลดไข้ตามที่แพทย์สั่ง
  4. ใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปาก จมูก ขณะไอจาม แล้วทิ้งในขยะที่มีฝาปิด
  5. ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด กินของเย็นได้
  6. แยกภาชนะในการดื่มน้ำ และไม่รับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  7. แยกผ้าเช็ดตัว อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน เพื่อป้องกันการระคายเคือง กรณีคันให้ทายาคาลาไมน์ หรือยาตามที่แพทย์สั่ง
  8. ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและทำความสะอาดห้องด้วยน้ำผสมผงซักฟอกแล้วตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
  9. แยกและล้างทำความสะอาดของเล่น /ของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ด้วยสบู่ แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  10. มาตรวจตามนัด หรือกรณีมีอาการแย่ลง เช่น ซึม แขนขาอ่อนแรง เดินเซ เกร็ง กระตุก ตัวเย็น อาเจียนบ่อย อ่อนเพลียมาก ให้รีบมาพบแพทย์

 ข้อควรระวัง

     ***หลีกเลี่ยงการนำเด็กป่วยไปเล่นรวมกับเด็กอื่นๆ ทั้งขณะรอตรวจ หรือเมื่อรักษาตัวในโรงพยาบาล